ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ เป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่ลูกหลาน และประเทศชาติเป็นอันมาก เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า จากการที่ท่านได้สั่งสมประสบการณ์จากชีวิตของท่าน ท่านจึงเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่อง เคารพนับถือของผู้ที่อ่อนวัยกว่า อันเป็นประเพณีที่ยึดถือกันมาตั้งแต่สมัยก่อน

ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามามาก ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากครอบครัวขยาย มีปู่ ย่า ตา ยายอาศัยรวมอยู่ด้วย มาเป็นครอบครัวเดี่ยว จะมีเฉพาะพ่อ แม่ และลูกเท่านั้น ครอบครัวแต่ละครอบครัวมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ขาดประสบการณ์ชีวิต ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุกับผู้ที่อ่อนวัยกว่า ผู้สูงอายุจึงไม่ได้รับการเคารพนับถือเหมือนสมัยก่อน

ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่ควรให้ความห่วงใย ในฐานะที่ท่านเคยเป็นผู้ให้แก่พวกเรา ทั้งลูกหลานและบ้านเมืองประเทศไทย ในปัจจุบันพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยโครงสร้างประชากรของผู้ที่อายุ มากกว่า 60 ปี พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทางรัฐบาลและผู้มีหน้าที่ทางสุขภาพจิต ได้ให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น จัดให้มีความรู้เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ

บทความนี้จะกล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้มากในผู้สูงอายุและแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุได้เอง ก่อนที่จะปรึกษากับแพทย์ทั่วไปหรือจิตแพทย์

การเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ มิใช่อยู่ที่อายุซึ่งเป็นเพียงตัวเลขอย่างเดียวเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เห็นได้ชัดนั้น จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น พันธุกรรม การดำรงชีวิต การดำเนินชีวิต และสภาพจิตใจด้วย จะเห็นว่าบางคนแม้อายุมาก ทำไมจึงดูไม่แก่ แต่บางคนอายุไม่มาก ทำไมดูแก่เกินวัย ทั้งนี้เป็นเพราะองค์ประกอบดังได้กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุจะขึ้นอยู่กับการได้รับการสุขศึกษา ให้รู้ว่าเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ จะมีการเสื่อมของร่างกาย รู้ถึงการปรับตัวหรือสังเกตการเสื่อมของร่างกายได้อย่างไร ถ้าขาดความรู้ ความเข้าใจ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์อย่างมากมายซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั่นเอง

ในผู้สูงอายุ เมื่อร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ จะมีการเสียบทบาทของตัวเอง ทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองลดลง และจะส่งผลไปถึงกิจกรรมประจำวัน ไม่เป็นที่พอใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวลกลัว และยิ่งได้พบเห็นสภาพของผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ยิ่งทำให้เกิดความกลัว อารมณ์เศร้า ซึมลงและสิ้นหวัง

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในวัยสูงอายุ
ทุกข์ตามวัย ตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ย่อมที่จะเผชิญกับ ความสุขทุกข์แตกต่างกันตามแต่ประสบการณ์ของบุคคล แต่ไฉนในการสำรวจสุขภาพจิตของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าทั้งในผู้หญิงและผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเมื่อ มีอายุเพิ่มขึ้น หรือมนุษย์จะมีแหล่งเพาะพันธุ์และพื้นที่กักเก็บทุกข์มากกว่าสุข

ที่มา: โครงการรายงานสุขภาพจิตประจำปี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากแผนภาพจะเห็นได้ว่ามนุษย์ยิ่งมีอายุมากขึ้น ความเครียดก็ยิ่งสูงขึ้น ผู้สูงอายุเป็นวัยของการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกาย มีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหน้า กล้ามเนื้อ สายตาแย่ลง และนอกจากทางกาย เรื่องของจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ในแง่ดีได้แก่ ผู้สูงอายุมีประสบการณ์มีความสามารถในการปรับตัวมาก่อน จากด้านสุขภาพจิต “อาบน้ำร้อนมาก่อน” จึงเป็นการที่มีคุณค่ามากในผู้สูงอายุ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้สูงอายุจะประสบกับการสูญเสียในชีวิตมาก อาทิ เกษียณอายุการทำงาน สูญเสียเพื่อนจากการเสียชีวิต คู่ครอง ทำให้ผู้สูงอายุต้องปรับตัวมากเมื่อเข้าสู่วัยดังกล่าว จะเป็นการดี ถ้าเราได้เตรียมตัวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในล่วงหน้า

อารมณ์ของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ที่เห็นได้ชัดคือ

1. การสูญเสีย เป็นสาเหตุสำคัญมาก เช่น การสูญเสียคนใกล้ชิด จะทำให้อารมณ์ของผู้สูงอายุหวั่นไหวไปด้วย ผู้สูงอายุจะรู้สึกเศร้า ว้าเหว่ และมีความรู้สึกกลัวว่าจะเป็นไปในสภาพอย่างนั้น วัยสูงพบการสูญเสียได้บ่อยทั้งด้านร่างกาย ได้แก่กำลังวังชาลดลง เสียการได้ยิน เสียการได้รับกลิ่น เสียการลิ้มรส เสียการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองลดลง และการสูญเสียคู่ชีวิต บุคคลอันเป็นที่รัก เช่นเสียเพื่อนฝูง ทำให้ขาดคนใกล้ชิดเป็นผลให้เกิดความเศร้า หว้าเหว่

2. พ้นจากหน้าที่การงาน ทำให้รู้สึกว่ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้รับการยกย่องนับถือเหมือนเดิม ทำให้มีความรู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลง เนื่องจากหลายสาเหตุทั้งการเสื่อมถอยทางร่างกายและต้องพึ่งพาคนอื่น เป็นภาระแก่ลูกหลานทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสิ้นหวัง และวัยสูงอายุเป็นวัยเกษียณอายุทำให้ขาดอำนาจขาดคนเคารพนับถือ

3. การผ่าตัด ทำให้มีจิตใจหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะโอกาสที่จะมีสภาพร่างกายเหมือนเดิมนั้นเป็นไปได้ยาก หรือการกลัวความตาย วัยสูงอายุเป็นวัยที่พบความตายทั้งของเพื่อนฝูง คู่สมรสเป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ได้แก่ ตกใจกลัวจนอยู่เฉยๆ แยกตัวเองจากสังคมไม่ยอมรับรู้การตายของคนใกล้ชิด และมีอารมณ์ฉุนเฉียวใครทำอะไรก็ไม่ถูกใจเสียทุกอย่าง

4. ความเข้าใจ หรือความจำมีน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำใหม่จะเสื่อม แต่เรื่องเก่าๆจะจำได้ดี

5. เก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม บางคนคิดว่าตัวเองแก่แล้ว จะรู้สึกว่าหงุดหงิด

6. ทุกข์ใจ มัก จะทุกข์ใจเรื่องในอดีตด้วยความเสียดาย คิดถึงปัจจุบัน และวิตกกังวลต่ออนาคต เกิดความเงียบเหงาจะพบได้มากในผู้ที่ต้องสูญเสียคู่ชีวิตเพราะขาดผู้ใกล้ชิด ที่ปรึกษาอีกทั้งลูกหลานก็ไปทำงาน ทำให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว

7. ตึงเครียด วิตกกังวล โกรธง่าย ความรู้สึกโกรธจะเกิดเมื่อผู้สูงอายุถูกครอบครัวและสังคมทอดทิ้ง ผู้สูงอายุคิดว่าไม่มีคนสนใจ ตนเองไม่มีความสำคัญก็จะปฏิเสธการช่วยเหลือจากทุกคน พฤติกรรมที่ชัดเจนได้แก่ หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจการกระทำของบุคคลรอบข้าง ขี้โมโห จู้จี้ ขี้บ่น
โดยทั่วไปผู้สูงอายุต้องการให้คนยกย่องเอาใจใส่ เอาอกเอาใจ เห็นใจ และเห็นว่าตนมีประโยชน์ต่อสังคม ต่อลูกหลาน ต้องการให้มีคนคอยพยาบาล ความกลัวหรือความวิตกกังวลของผู้สูงอายุจึงเป็นปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง

ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักจะประสบปัญหาต่างๆดังนี้

1. ความวิตกกังวล กลัวว่าจะต้องพึ่งลูกหลาน มักแสดงออกเด่นชัดเป็นความกลัว ขาดความเชื่อมั่น นอนไม่หลับ กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวภัย กลัวขาดความสามารถ กลัวตาย กลัวไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากลูกหลาน ผู้สูงอายุมักกลัวไปต่างๆนานา อาจแสดงออกทั้งทางอารมณ์ไม่สบายใจ และออกทางกาย เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นลมง่าย หายใจไม่ออก เบื่ออาหาร เป็นต้น

การแก้ไข ควรแก้ที่ความคิดของตนเอง พยายามมองในแง่ความเป็นจริง มากกว่าคิดไปล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ คาดคะเนอนาคตในทางที่ดีมากกว่าจะจินตนาการแต่ในแง่ร้าย รู้สาเหตุเรื่องที่ทำให้กังวล แก้ปัญหานั้นโดยตรง การทำใจให้สงบโดยวิธีทางพุทธศาสนา จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าผู้สูงอายุหมั่นศึกษาธรรมะ ไหว้พระ ฝึกสมาธิ จะช่วยให้จิตใจสงบมากขึ้น

2. การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ผู้สูงอายุบางคนซึมเศร้า หงุดหงิด ระแวง เอาแต่ใจตนเอง ทำให้รู้สึกว่าเป็นการสูญเสียทางใจ หมดกำลังใจ นอนไม่หลับ เป็นต้น ผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับ มักชอบตื่นกลางดึก ตื่นเช้ากว่าปกติ ตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือเป็นตั้งแต่เข้านอน นอนหลับยากกว่าปกติ โดยทั่วไปในวัยสูงอายุ มักต้องการเวลานอนน้อยลง จากการเปลี่ยนแปลงของสรีระวิทยา ทำให้นอนหลับน้อยลง ตื่นเช้ากว่าปกติ แต่ผู้สูงอายุบางท่านอาจกังวลมาก ทำให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น และผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อาทิ ปวดเข่า ปวดท้อง ทำให้เป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับด้วย รวมถึงโรคซึมเศร้าถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่พบบ่อย เพราะวัยสูงอายุจะพบความสูญเสียได้บ่อย ผู้สูงอายุที่มีโรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่จะมีอาการทางอารมณ์ เช่น เบื่อหน่าย ท้อแท้ หงุดหงิดง่าย ใจคอไม่ดี เบื่อความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ พูดง่ายๆ คือ เซ็ง นอกจากนี้อาจจะมีนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิ
ผู้สูงอายุบางท่านจะบ่นว่าความจำแย่ลง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช้โรคสมองเสื่อมแต่เป็นจากสมาธิไม่ดี ทำให้ลืมง่ายมากกว่า ถ้าซึมเศร้ามากๆ อาจมีความคิดอยากตาย ต้องการทำร้ายตนเองซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนมาก ต้องรับให้ความช่วยเหลือ

การช่วยเหลือ
– พบปะพูดคุย และเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น
– หางาน หรือกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน และเกิดประโยชน์
– หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว เมื่อเกิดอารมณ์เศร้า
– พบจิตแพทย์ เพื่อขอความช่วยเหลือหากมีอาการรุนแรงหรือมีความคิดอยากตาย                     

3. การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ผู้ สูงอายุมักจะคิดซ้ำซาก ลังเล ระแวง หมกมุ่นเรื่องของตัวเอง และเรื่องในอดีต จะคิดเรื่องในอดีตด้วยความเสียใจ เสียดาย ที่ปล่อยเวลาที่ผ่านมาให้เปล่าประโยชน์ และคิดถึงปัจจุบันด้วยความหวาดกลัว กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวถูกเขารังเกียจ

4. พฤติกรรม มักเอาแต่ใจตัวเอง จู้จี้ ขี้บ่น อยู่ไม่สุข ชอบยุ่งเรื่องคนอื่น หรืออาจมีปัญหาทางเพศ ใน สังคมไทย มักไม่พูดถึงเรื่องเพศ แท้จริงเรื่องเพศในผู้สูงอายุ อาจพบได้บ่อยกว่าที่คิดในผู้ชายความต้องการทางเพศจะมีอยู่ได้ตลอด อาจพบได้ในวัยสูงอายุ กว่าที่คาดคิด แต่ในเพศหญิง อาจไม่พบมีความต้องการทางเพศแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นระหว่างคู่สมรส เราควรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวไว้ ไม่ควรอับอาย หรือถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ควรเห็นใจ เข้าใจ ปัญหาดังกล่าว ถ้าท่านผู้สูงอายุ เกิดปัญหาขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป

5. ความจำ มักจำปัจจุบันไม่ค่อยได้ และชอบย้ำคำถามซ้ำๆกับคนที่คุยด้วย ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย บางรายจำผิดพลาด และพยายามแต่เรื่องราวจนกลายเป็นพูดเท็จ เป็นภาวะที่เรียกว่าสมองเสื่อม

เป็นธรรมดาที่ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความจำ อาทิ ลืมง่าย ต้องพูดซ้ำๆ ถามซ้ำๆ จำเหตุการณ์ใหม่ๆ ได้ไม่ดี จำเหตุการณ์ในอดีตได้แม่น แต่ถ้าไม่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ใน ผู้สูงอายุที่มีโรคสมองเสื่อม การสูญเสียความจำจะรุนแรงมากจนมีผลในชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือตนเองแย่ลง มีปัญหาในการดูแลช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซ้ำต้องให้คำปรึกษาหรือรักษาจากแพทย์ ในผู้สูงอายุที่ลืมง่าย อาจหาวิธีต่างๆ มาช่วยเตือนความจำ อาทิ สมุดบันทึก จัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ ลูกหลานควรให้ความเชื่อมั่น เข้าใจ และให้ความช่วยเหลือ จัดกิจวัตรประจำวันให้ตรงเวลา เตือนถึงวันเดือนปี ช่วยเตือนความจำอื่นๆ แต่ถ้าอาการรุนแรงมาก นอกจากหลงลืมมีอาการทางจิต พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงมาก ควรปรึกษาแพทย์

6. โรคจิต ความพิการทางสมอง มีการเสื่อมของสมอง ในกรณีที่เสื่อมน้อย เป็นไม่มากไม่ต้องนอนพักรักษาตัว

สาเหตุของการมีสุขภาพจิตเสื่อมในผู้สูงอายุ

เหตุสุขภาพจิตเสื่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ถ้าจะกล่าวโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ที่ทำให้สุขภาพจิตเสื่อม อยู่ที่การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อปรับไม่ได้ก็เกิดความเครียดขึ้น จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุไทยมีปัญหาในชีวิตประจำวันมากมายหลายอย่าง แต่พอจะประมวลรวมกันได้ว่า มีปัญหาหลักอยู่สามประการคือ

1.ปัญหาเรื่องสุขภาพกายที่มีความเสื่อมไปตามอายุขัย ทำให้สมรรถภาพต่างๆ ของร่างกายที่เคยดี-เคยเก่ง-เคยรวดเร็ว ลดลง ไม่สามารถดำเนินได้ดีเท่าหนุ่มหรือเท่าเดิม หู-ตา เสื่อมลง-ความคล่องแคล่ว-การตัดสินใจลดลง แถมเพิ่มความหลงลืมขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ความเป็นเลิศในอดีตกลายมาเป็นความเป็นรอง ผลก็คือทำให้จิตใจไหวหวั่น ได้รับความกระทบกระเทือนพอสมควร ซ้ำยังไม่มีทางจะไปร้องเรียนเอากับใครได้

2.ปัญหาเรื่องการเงินหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ โดยทั่วไปจะลดลง เพราะต้องเกษียณจากการงาน เงินเดือนเคยจะลดลง หรือแม้จะไม่ต้องเกษียณอายุการงาน เพราะกิจการเป็นของตนเอง ผลงานก็จะลดต่ำลง เพราะสภาพร่างกายลดความแข็งแรง จะเห็นได้จากผู้มีอาชีพเกษตรกรรม อายุมากเข้าก็ทำไม่ไหว ทำให้รายได้ตกต่ำลง เพราะสภาพร่างกายลดความแข็งแรงลง ผู้ใดมีเงินออมเก็บไว้มากพอก็ดีไป ผู้สูงอายุใดไม่ได้สะสมเงินออมไว้จะเกิดปัญหา ยิ่งค่าครองชีพสูงขึ้น ยิ่งลำบาก บางทีต้องอาศัยเงินทองจากบุตรหลาน ทำให้ความภาคภูมิใจลดต่ำลง ปะเหมาะเคราะห์ร้าย บุตรไม่ดีอย่างใจ ยิ่งซ้ำร้ายเข้าไปอีก เรื่องอย่างนี้สุมอยู่ในอก-ในจิต ทำให้สุขภาพจิตเสื่อมลงได้มาก

3.ปัญหาทางสังคม ยิ่งผู้สูงอายุใดเคยมีบทบาทในสังคมสูง เช่น เป็นข้าราชการระดับสูง มีอำนาจวาสนาคนนับหน้าถือตาล้อมหน้าล้อมหลัง เมื่อสูงอายุ เกษียณอายุการงานออกมาเป็นคนธรรมดา จะยิ่งมีปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่าคนธรรมดา ประกอบกับสังคมสมัยใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ คนรุ่นใหม่ มีความรู้เฉลียวฉลาดมากขึ้น มองคนสูงอายุเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ผู้สูงอายุไม่สบอารมณ์ในสถานภาพทางสังคมอย่างใด ก็ไม่มีอำนาจในการต่อรองทางสังคมได้ สิ่งเหล่านี้เป็นผลต่อจิตใจค่อนข้างมาก

นอกจากปัญหาหลักๆ 3 ประการนี้แล้ว ยังมีปัญหาปลีกย่อยในแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไปอีกมาก ผลของปัญหาเหล่านี้จะกระทบจิตใจของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดความเครียด เป็นธรรมดา มนุษย์ทุกคนต้องมีปัญหา ต้องมีความเครียด ไม่มีใครไม่มีปัญหาอยู่ที่ว่า แต่ละคนจะปรับตัวสู้ความเครียดนั้นอย่างไร

ถ้าปรับตัวได้ ร่างกายและจิตใจก็อยู่ในสภาพปกติ ผู้ใดปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดภาวะสุขภาพจิตเสื่อมเกิดขึ้น เสื่อมมากขึ้นก็กลายเป็นโรคประสาทมากขึ้นไปอีกก็เป็นโรคจิตในผู้สูงอายุได้

การส่งเสริมสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ

เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี สมาชิกในครอบครัวและสังคมพึงปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ดังนี้
1. ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนยังมีคุณค่า มีความสำคัญและมีความหวังในชีวิต เช่นขอคำปรึกษาแนะนำต่างๆ ขอความช่วยเหลือให้ควบคุมดูแลบ้าน และเป็นที่ปรึกษาการเลี้ยงดูบุตร

2. ระมัดระวังคำพูดหรือการกระทำที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ และพยายามเน้นถึงความหมายหรือความสำคัญของผู้สูงอายุ เช่นกล่าวทักทายก่อน เชิญรับประทานอาหารก่อน

3. ชักชวนพูดคุยและรับฟังถึงส่วนดีหรือเหตุการณ์ประทับใจในอดีตของผู้สูงอายุอย่างเต็มใจ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่ายังมีคนชื่นชมในชีวิตของตนอยู่

4. ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่สนใจต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่นไปวัดทำบุญฟังเทศนา ลูกหลานควรเตรียมข้าวของต่างๆให้

    1. เอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ให้ได้รับอย่างเพียงพอ และเหมาะสมเป็นประจำ
    2. ที่พักอาศัย หากผู้สูงอายุต้องการแยกบ้านอยู่หรือไปอยู่สถานที่ที่รัฐจัดให้ก็ควรตามใจ แต่ไม่ควรห่างไกลมาก เพื่อความสะดวกในการไปเยี่ยมเยียน และให้การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้
    3. ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กับญาติใกล้ชิดและเพื่อนร่วมวัยเดียวกันบ้าง ด้วย การพาไปเยี่ยมเยียน หรือเชิญญาติมาที่บ้านพาไปสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุ เช่น วัด และชมรมผู้สูงอายุที่มีในชุมชน ผู้สูงอายุจะได้มีเพื่อนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำให้คลายเหงาลงได้บ้าง
    4. ให้ความเคารพยกย่องและนับถืออย่างสม่ำเสมอ ร่วมมือร่วมใจกันรักษาและฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของไทยเรื่องการ ยกย่อง เคารพนับถือผู้สูงอายุ เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เนื่องในวันสงกรานต์ เป็นต้น
    5. ให้อภัยในความหลงลืมและความผิดพลาดที่ผู้สูงอายุกระทำและยิ่งกว่านั้นความแสดงความเห็นอกเห็นใจที่เหมาะสมด้วย
    6. รัฐควรจัดบริการทางสังคมต่างๆ เช่น บริการทางการแพทย์ บริการสถานสงเคราะห์คนชราและอื่นๆ

การดูแลผู้สูงอายุ

1. ให้การศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุกับผู้ที่อ่อนวัยกว่าให้ได้รู้ว่า เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ถ้าชะลอได้เท่าไรก็จะเป็นผลดีแก่ตัวเรา และคนใกล้ชิดมากเท่านั้น

2. การส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
              2.1 ให้ความรู้ด้านอนามัยของผู้สูงอายุ สมัยนี้เรียกว่าการให้สุขศึกษา พยายามให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขออกไปให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุตาม ชุมชน แนะนำเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกายและผู้สูงอายุไม่ควรนั่งอยู่นิ่งๆ หรือนอนเฉยๆ ควรจะได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้เหงื่อออกบ้างตามความเหมาะสม เป็นการช่วยให้ร่างกายมีการไหลเวียนเลือดดี
              2.2 อาหารเป็น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง การกินอาหารที่ผิดสุขลักษณะตั้งแต่วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน วัยสูงอายุจะเกิดอัตราเสี่ยงต่อโรค และจะมีผลทำให้สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อาหารที่ดีที่สุดคือ อาหารที่ย่อยง่าย มีโปรตีนปานกลาง ไขมันน้อย และมีปริมาณที่พอดี อาหารที่ย่อยง่าย เช่นเนื้อปลา ผัก ไขมันสัตว์เป็นส่วนประกอบบ้าง ผลไม้ เป็นต้น
               2.3 การพักผ่อนอารมณ์ ควรพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เคร่งเครียด หรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ
               2.4 ส่งเสริมการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเป็นประจำ พบแพทย์ปีละครั้ง
               2.5 ศาสนาเป็น ที่พึ่งที่ดีของผู้สูงอายุ จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้ความหวังและความสุขกับผู้สูงอายุ วัฒนธรรมไทยในเรื่องการเคารพยกย่องผู้สูงอายุเป็นของดีมีประโยชน์ ควรจะได้มีการอนุรักษ์ไว้ เพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุ และทุกคนควรจะให้ความรัก เอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างจริงจังและจริงใจ

แนวทางการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
แบ่งเป็น  3  ด้านที่เกี่ยวข้อง
1.      ด้านนโยบายของรัฐ
2.      ด้านการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ
3.      ด้านการดูแลจากลูกหลาน

ด้านนโยบายของรัฐ

1.มีการวางนโยบายหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ  มีปัญหา เช่น

1.1            ปัจจุบันรัฐได้ให้ความช่วยเหลือเป็นรายเดือนแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถ  ช่วยเหลือตนเองได้  ขาดการดูแลจากลูกหลาน
1.2            การให้การรักษาฟรีแก่คนชรา

2.การให้ความช่วยเหลือแนะนำความรู้ด้านต่าง ๆ แก่คนสูงอายุ  เช่น  คำแนะนำในการเสียภาษี  การทำพินัยกรรม  ฯลฯ  เพื่อป้องกันความผิดพลาด  จากการถูกหลอก ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน  ซึ่งจะทำให้สุขภาพจิตเสียได้

3.การจัดบริการต่าง ๆ แก่คนชรา เช่น การจัดบริการพยาบาลไปเยี่ยมบ้าน  การจัดอาสาสมัคร  นักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยม  พูดคุยกับคนชรา  จัดทำชมรมผู้สูงอายุ  หรือสโมสรผู้สูงอายุ

4.มีการให้ความรู้  ชี้แจง  อบรม  ส่งเสริมเรื่องสุขภาพจิต

ด้านการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ

1.เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของตนเองในทุก ๆ ด้าน  จากการอ่านหนังสือ  อบรมสัมมนา  หรือพูดคุยกับผู้สูงวัยกว่า  เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่ตนเอง

2.ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิด

3.ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

4. หางานอดิเรกทำ หรือทำงานที่สร้างความสุขและมีประโยชน์ต่อผู้อื่น

ด้านการดูแลจากลูกหลาน

ลูกหลานต้องคำนึงและตระหนักว่า  ผู้สูงอายุคือผู้ที่มีคุณค่า  มีความรู้  มีความสามารถ  เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา  ดังนั้น ลูกหลานจึงมีหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ดังนี้

1.ให้ความเคารพ  นับถือ  ยกย่อง
2.ดูแลความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต
3.ให้ความรัก  ความเอาใจใส่
4.สนับสนุนเรื่องเงินและการใช้จ่าย

ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา ในผู้สูงอายุที่เกี่ยวข้องทางสุขภาพจิต แต่ผู้สูงอายุ อาจพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและสุขภาพกายร่วมกันได้อีกด้วย สรุปว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางกาย และทางจิตใจ การเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย ในแง่ร้ายทำให้เกิดปัญหา ทางจิตใจ ถ้าเรารู้ทันให้การแก้ไขทันท่วงที ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีพระคุณกับเรา ผู้ที่จะสามารถนำความสามารถของท่านมาสร้างประโยชน์แก่พวกเรา และประเทศชาติต่อไป

บทความโดย http://www.pharm.chula.ac.th