โรคกังวลต่อการเข้าสังคม (Social Anxiety in Children & Adolescents)

“เมื่อความขี้อาย กลายเป็นความกลัว”

กังวลต่อการเข้าสังคมหรือที่เคยเรียกว่าโรคกลัว สังคม (Social Phobia) พบเห็นได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้สึกขัดอกขัดใจกับบุตรหลาน ของตนอย่างมากว่า “ไม่กล้าแสดงออก” หรือพ่อ แม่อาจอับอายที่มีลูกขี้อายและยิ่งพยายามผลักดันให้เด็ก ๆ เหล่านี้ได้ “แสดงออก” มาก ๆ เช่น ส่งไปเต้นระบำขับร้องบนเวที ที่มีคนดูเยอะๆ อาจยิ่งจะทำให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นที่ไม่อาจทำให้พ่อแม่พอใจได้

อาการหลัก ๆ

อาการหลักๆ ของโรคนี้คือ ความกลัวต่อการถูกเฝ้ามองหรือถูกประเมินจากคนอื่น เด็กเหล่านี้จะกลัวโดยคิดไป ว่าเขาอาจจะทำหรือพูดอะไรที่ดู “ เปิ่น ๆ เชย ๆ ผิด งี่เง่า ไม่เข้าท่า ” ออกไปทำให้ตัวเองได้อาย หรืออาจตกเป็นเป้า สายตาของการถูกการวิพากษ์วิจารณ์ ความแตกต่างของโรคนี้จากความ “ ขี้อาย ” ทั่วไปก็คือ เด็กเหล่านี้จะแทบทำอะไร ต่อหน้าคนอื่นไม่ได้เลย และอาการเหล่านี้มักไม่ดีขึ้นเมื่อโตขึ้นแบบ “ หายไปเองตอนโต ” เหมือนเด็กขี้อาย คนอื่น ๆ เวลาที่เด็กเหล่านี้กลัว เด็กอาจมีอาการทางร่างกายต่าง ๆ ตามมา เช่น เวียนหัว มีนงง ท้องไส้ปั่นป่วน มือสั่น ใจสั่น เหงื่อแตก หน้าแดงหรือเกร็งกล้ามเนื้อต่าง ๆ หรือบางคนอาจกลัวลนลาน วิ่งหนีเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ก็เป็นได้ สถานการณ์หลัก ๆ ที่มักทำให้เด็กเหล่านี้แสดงอาการออกมาคือ การต้องเป็นคนนำการสนทนาให้กับคนที่ไม่คุ้น การ ไปงานกิจกรรม ที่ไม่มีระเบียบแบบแผนดู “ มั่ว ๆ ” การต้องแสดงหรือพูดหน้าชั้น ถามคำถามในห้อง ซึ่งเด็กเหล่านี้ก็จะ “ ช่วยตนเอง ” โดยการ “ หลีกหนี ” การเข้าสู่สถานการณ์สังคมเหล่านั้นไป ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสที่จะได้รู้จัก ความสามารถของคน รู้จักคนเพิ่มหรือรักษามิตรภาพกับเพื่อน ๆ ไว้

พ่อแม่อาจสังเกตลูกได้ว่ามีอาการดังนี้
• ลังเล รู้สึกไม่สบายใจ หรือยอมเป็นคนตามเมื่อต้องเป็นจุดสนใจของคนอื่น
• หลบเลี่ยงที่จะเริ่มพูดคุย แสดงออก ไปงานรื่นเริง รับโทรศัพท์หรือสั่งอาหารตามร้านภัตตาคาร
• ไม่ค่อยสบตา หรือมักพูดเบา ๆ พึมพำ
• คุยหรือเล่นกับเพื่อนน้อย
• แยกตัวจากกลุ่มเพื่อน ไปเก็บตัวในห้องสมุดอย่างไม่มีความสุข (ไม่ใช่เพราะรักการอ่านจริง)
• ใส่ใจกับคำพูดคำวิจารณ์ต่าง ๆ อย่างมาก กลัว “ขายหน้า” ฯลฯ

นอกจากนี้ ผลตามมาของการที่เด็กกลัวสังคมมาก ๆ อาจทำให้เด็กปฏิเสธการไปโรงเรียน( School refusal) โดยบอกว่าปวดหัว ปวดท้องบ่อย ๆ หรือ เด็กกลายเป็น “ ใบ้ ” ไม่พูดกับใครเลยนอกบ้าน แต่จะพูดเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยได้อย่างปกติ ( Selective mutism) ก็ได้

ไม่รักษาได้ไหม

โดยทั่วไปเด็กเหล่านี้มักมีอาการเหล่านี้มาตั้งแต่ยังอายุน้อย แต่มักจะเห็นอาการเด่นชัดในช่วง วัยรุ่นซึ่งเป็นจังหวะที่เด็กอาศัยการเข้าสังคม การคบหาเพื่อนเป็น “ห้องทดลอง” หาประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองและบุคลิกภาพ ซึ่งหากเด็กที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมอย่างมาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในด้านดังกล่าว ทำให้ เด็กรู้สึกอึดอัดกับตนเอง จนอาจเกิดปัญหาทางอารมณ์หรือโรคซึมเศร้าตามมา สิ่งที่น่ากลัวและเกิดอยู่เสมอ ก็คือ การหันไปใช้สุราเพื่อลดความกังวล “ตื่นเต้น” ในการเข้าสังคมเข้าทำนอง “เอาเหล้าย้อมใจ” หรือ “ถ้าเหล้าเข้าปากถึงจะคุยสนุก” ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ การเรียน และสังคมตามมาอีกมากมาย

คำแนะนำในการช่วยเหลือ

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง

• สร้างโอกาสให้บุตรหลานของท่านได้ “ทดลอง” กับสังคมที่หลากหลาย อย่างเล่นกับเพื่อน ๆ กลุ่ม ต่าง ๆ ไปงาน วันเกิด เพื่อน ๆ ญาติ ๆ เข้ากิจกรรมโรงเรียนแต่ไม่ควรผลักดันลูกไปเข้าสถานการณ์ใหญ่ ๆ ยาก ๆ ในทั้งที่ตั้งแต่เริ่มต้น อย่างประกวดร้องเพลง แข่งพูดโต้วาที เป็นต้น เพราะเด็กอาจล้มเหลวได้รับแต่ประสบการณ์ที่แย่แทนที่จะรู้สึกว่าทำได้
• เวลาเห็นลูกทำท่าอึดอัดหรือตอบคนอื่นช้า อย่า “พูดแทน” ลูก เช่น เวลาสั่งอาหารช้า ก็สั่งให้หรือแย่งตอบคำถาม ที่ผู้ใหญ่คนอื่น ถามให้แทน
• จูงใจให้รางวัลหากลูกกล้าพูด
• ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นในสถานการณ์สังคมต่าง ๆ ว่าควรวางตัวอย่างไร
• กรุณาอย่าทำท่าทางเหนื่อยหน่าย “เบื่อ” หรือโมโห หากลูกไม่สามารถแสดงออกได้ดังใจของท่าน (จริง ๆ เขาก็ ผิดหวังตัวเองอยู่เยอะแล้ว) ควรแสดงความเข้าใจเขา และให้กำลังใจแนะนำให้ลองครั้งต่อไป

สำหรับคุณครู

• ลองเปลี่ยนบรรยากาศกฎเกณฑ์ให้ลูกศิษย์ที่กลัวการเข้าสังคมของคุณ ซึ่งอาจจะ “ช้า” หรือ “ลังเล” ให้มีโอกาส ได้แสดงออกบ้าง ไม่ใช่เน้นแต่ “ความเร็ว” หรือ “ความเด่น”
• คุยกับเขาว่า เราพยายามสร้างโอกาสให้เขาได้แสดงออก ไม่ใช่ “แกล้ง” ทำให้เขาได้อาย
• แนะนำเขาว่าการได้พูดตอบแค่ “เบาๆ” ในห้องก็เพียงพอแล้วสำหรับการมีส่วนร่วมในช่วงแรกๆเขาจะรู้สึกว่าการมี ส่วนร่วมนั้น “ง่าย” ขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งถัดมา
• อย่าระดมถามแต่เด็กที่กำลังฝึกคนนี้อยู่คนเดียว ควรกระจายถามเด็กคนอื่นๆ ให้เสมอๆ กันอย่างเป็นธรรมชาติ

การรักษาโดยจิตแพทย์

• พฤติกรรมบำบัด โดยมักให้เด็กได้ค่อยๆ เผชิญกับสถานการณ์ที่เด็กกลัวหรือตื่นเต้นอยู่ทีละน้อยให้เด็กได้พิสูจน์ “ว่าสิ่งที่เขาคิดกลัวอยู่นั้นเป็นจริงหรือ” อย่าง “ทุกคนต้องหัวเราะเยาะฉันแน่แค่ฉันพูดคำแรก” หรือ การฝึกสอนเด็กให้ รู้จักการเริ่มต้นการสนทนา หัดผ่อนคลายความเครียด ความกลัวของตนเองลง
• การให้ยาที่ลดความกังวลและความตื่นกลัวของเด็ก ซึ่งมียาหลายชนิดที่ได้ผลดีโดยมิได้ทำให้เกิดการติดยา ง่วงซึมหรือทำลายสมองเด็กอย่างที่เคยเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน ควรปรึกษาจิตแพทย์เด็กถึงทางเลือกของการรักษา

บทความจาก “สาระน่ารู้” รพ.มนารมย์