ความคิดและจิตใจของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted Children)

ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษมีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักท้วงติงหรือกังวลบ่อย ๆ ก็คือ ความมีจริยธรรมของเด็กกลุ่มนี้ เพราะคนทั่วไปตระหนักดีว่าหากเราช่วยผลักดันส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้โดดเด่น แต่ขาดจริยธรรม ก็จะเป็นเรื่องทำลายสังคมมากกว่าสร้างสรรค์สังคม ความเป็นห่วงเป็นใยนี้เป็นเรื่องสำคัญ และต้องยึดถือให้มีกลวิธีที่เป็นเครื่องอุ่นใจว่า เด็กที่เรามุ่งพัฒนาด้วยต้นทุนที่แพงแสนแพง จะไม่กลับมาทำร้ายและเอาเปรียบสังคมจนประเทศล่มสลายในภายหลังเพราะเด็กกลุ่มนี้ร้ายแล้วร้ายนัก ร้ายลึกซึ้ง หากดีก็สามารถพลิกประเทศ พลิกสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดีได้เช่นกัน

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้จึงต้องยึดถือไว้ในหัวใจว่า เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องการหาทางสร้างและส่งเสริมคนที่มีศักยภาพสูง ให้มีหัวใจที่เป็นสาธารณะ มุ่งอุทิศตนเพื่อคนอื่น

การที่จะจัดโครงการให้กับเด็กกลุ่มนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูและ ผู้ปกครอง จะต้องรู้จักและเข้าใจลักษณะธรรมชาติและความต้องการของเด็กกลุ่มนี้ให้ชัดเจนว่า เด็กกลุ่มนี้นอกจากธรรมชาติทางด้านความสามารถพิเศษที่มีอยู่นั้นสลับซับซ้อน พิสดารกว่าคนอื่น สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วทำได้ดีกว่าเด็กคนอื่นในสิ่งที่ตนถนัดแล้ว ลักษณะกลไกทางจิตใจก็ซับซ้อนละเอียดอ่อนไม่แพ้กับพลังด้านความสามารถของพวกเขา

การจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้จึงไม่ควรละเลยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางจิตใจ และความเจริญเติบโตทางอารมณ์และสังคมของเด็ก หากเราเพิกเฉย มุ่งวัดและให้แรงเสริมแต่ด้านความสามารถของเขาอย่างเดียว ในอนาคตเราอาจได้หุ่นยนต์พิสดารที่เก่งสารพัดแต่ขาดหัวใจ หรืออาจได้ผู้ร้ายในคราบนักบุญ คราบนักบริหารระดับสูงที่บั่นทอนทำลายสังคมก็เป็นได้

พฤติกรรมทางด้านจิตใจของเด็กกลุ่มนี้ มีความละเอียดอ่อนยิ่ง และมีการรับรู้ที่ “ไว” เด็กกลุ่มนี้จึงมีพื้นฐานที่จะมี “ความรู้สึก” มากกว่า ลึกซึ้งกว่า ซับซ้อนกว่าเด็กทั่วไป โดยพื้นฐานแล้ว เด็กกลุ่มนี้มักสนใจในเรื่องศีลธรรมจรรยา ปรัชญาหรือประเด็นทางสังคม จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะชักจูงให้เด็กกลุ่มนี้พัฒนาตนเองเพื่อสังคม หากเขาได้พบกับต้นแบบที่ดีพอ มองเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่ที่ยืนยันว่า คนเก่ง คนดี คนมีค่าของสังคมจะต้องเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันโดยพื้นฐานโดยธรรมชาติของเด็กพวกนี้ ไม่สามารถหล่อเลี้ยงและพัฒนาตนเองให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขได้ หากปราศจากปัจจัยสำคัญเกื้อหนุน เพราะแม้เด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถโดดเด่นหรือฉลาดลึกซึ้งเพียงใดก็ยังเป็น เด็กธรรมดา ที่ต้องการประสบการณ์จากผู้ใหญ่ จากการชี้แนะที่ดี และที่สำคัญเด็กเหล่านี้ยังต้องมีการเรียนรู้ภาวะจิตใต้สำนึกที่ดี นั่นคือ การได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวความเข้าใจจากพ่อแม่ และมีพื้นฐานครอบครัวที่สมบูรณ์

เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาเด็กกลุ่มนี้ต้องการความเข้าใจจากครู และผู้ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากความต้องการการศึกษาที่เหมาะสมกับพวกเขา เพราะคนทั่วไปมักคิดว่า พวกเขายังเป็นพวกอภิสิทธิ์ชน ได้เปรียบคนอื่น รู้มากกว่า ไม่ต้องช่วยเหลืออะไร เขาก็ช่วยตัวเองได้ดี ในขณะที่เด็กกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองด้อยโอกาสมีความกดดัน ความเจ็บปวดขมขื่น ตนเองแตกต่างไปจากคนอื่น

กลุ่มของโคลัมบัส กล่าวว่า ความสามารถพิเศษนั้น คือความไม่ผสมกลมกลืนกันของพัฒนาการ กล่าวคือ พัฒนาการทางปัญญาและความสามารถต่าง ๆ มีอยู่อย่างเข้มข้น และมีผลกระทบทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์ หรือการตระหนักรู้ที่แตกต่างจากคนทั่วไป ความไม่ผสมกลมกลืนนี้เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงมากขึ้น เอกลักษณ์ของเด็กกลุ่มนี้บางทีแทนที่จะเป็นผลดี แต่กลับกลายทำให้พวกเขาอ่อนแอ และต้องการดูแลจากผู้ปกครอง ครู ในการให้คำแนะนำปรับปรุง เพื่อทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาเต็มตามศักยภาพได้ ซึ่งความไม่ผสมกลมกลืน (Asynchrony) หมายถึง “การขาดการผสมกลมกลืนหรือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอัตราการพัฒนาการของ ปัญญา อารมณ์ และร่างกาย” ความไม่ผสมกลมกลืนกันนี่เองที่ส่งผลให้เกิดความเครียดภายในได้ แต่ไม่สามารถขีดเขียนได้ตามจินตนาการหรือความต้องการของตนเองได้ ทำให้เกิดความเครียด หงุดหงิด คับข้องใจ ที่สามารถพบได้เสมอ ๆ ในกลุ่มเด็กที่มีความสามารถในระดับสูงมาก (Highly Gifted)

ความไม่ผสมกลมกลืนภายในก็ก่อให้เกิดความลำบากในการปรับตัวภายนอก (External Adjustment) ไปด้วย และเด็กก็มักจะมีความรู้สึกว่าตนเอง “แตกต่าง” “ไม่มีที่เหมาะกับเขา” เพราะเด็กทุกคนต้องการหรือมีความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นที่ยอมรับ ความรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ไม่เหมาะกับตัวเขาจึงเป็นเรื่องเจ็บปวดอยู่ไม่น้อยทีเดียว

จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่า เด็กที่ฉลาดล้ำหรือกลุ่มพวกมีความสามารถเป็นเลิศ มีศักยภาพสูงยิ่ง กลับเป็นพวกที่อาจล้มเหลวได้ และอาจมีอาการที่พบบ่อยในเด็กกลุ่มนี้ คือ

1. ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ซึ่งการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้อื่นไม่เห็นคุณค่าหรือความสำคัญของตนเอง เมื่อผู้อื่นทำผิดพลาดมักตำหนิผู้อื่น ชอบปกป้องตัวเอง และรู้สึกไม่พอใจอะไรง่าย ๆ นอกจากนั้น ยังทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดการตัดสินใจที่ดีในอนาคต

2. ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง (Loneliness) เพราะเนื่องจากคนไม่ค่อยเข้าใจความคิดความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษสูง ๆ จะรู้สึกว่า คนอื่นคิดและรู้สึกไม่เหมือนกับตน จึงทำให้เด็กมีพฤติกรรมการตอบสนองไปในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแล้วแต่พื้นฐานทางด้านจิตใจ การอบรมเลี้ยงดู รวมทั้งวิธีการคิดของเด็กด้วย

3. มีปัญหาในการปรับตัว จึงทำให้มีทักษะทางสังคมต่ำ (Low Social Skill) เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับความคิดของตนเองให้คล้อยตามกับความคิดของกลุ่มคน ในสังคม เพราะระบบการคิดที่ต่างกันจึงทำให้เด็กเหล่านั้นไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรม ทางสังคมได้

4. ความเครียดสูง เพราะเนื่องจากความคาดหวังและสภาพแวดล้อมที่ตัวเด็กได้รับความกดดัน และระบบการศึกษา ซึ่งตัวเองต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนไม่สนใจ

5. กลัวความล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กที่แสดงออกถึงความสามารถที่โดดเด่น ทำให้ผู้คนใกล้ชิดกับเด็กมักจะคาดหวัง และตัวเด็กเองก็มีแนวโน้มชอบทำอะไรสมบูรณ์ไม่มีที่ติ (Perfectionist) จึงทำให้เด็กพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความล้มเหลว

6. ขาดความมั่นใจในตนเอง (low Self-Confident) ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออก หรือในบางครั้งก็แสดงออกแต่ไม่เหมาะสมจึงทำให้ถูกตำหนิเมื่อจะทำอะไรใหม่ ๆ ทำให้ไม่กล้าแสดงออก

7. ทำงานไม่ค่อยเสร็จ เด็กที่มีความสามารถพิเศษมักมีความคิดดี เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้เร็ว คิดเก่ง แต่ลงมือทำมักทำไม่ค่อยสำเร็จ

จึงเห็นได้ว่า ลำพังความเข้าใจของครู หรือของพ่อแม่อาจไม่เพียงพอ นั่นหมายถึงโรงเรียนหรือหน่วยงานที่จัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้ ควรสร้างระบบหรือกลไกทางด้านการแนะแนวและจิตวิทยาควบคู่กันไป ที่มีทั้งครู พ่อแม่ นักแนะแนวและจิตวิทยาควบคู่กันไป ที่มีทั้งครู พ่อแม่ นักแนะแนว นักจิตวิทยา จิตแพทย์ มาร่วมกันอย่างมีระบบ โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างทักษะทางอารมณ์ สังคม จิตใจให้เด็ก เช่น ความมีศีลธรรมจรรยา ความศรัทธาในเรื่องต่างๆ ความเมตตา กรุณา ความรู้สึกที่ต้องการให้ตนเองเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ ความห่วงใยผู้อื่นการอุทิศตนให้สังคม การมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่มั่นคง และเข้มแข็ง มีความยุติธรรม มีความเข้าใจเรื่องสังคม มีความรับผิดชอบ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ในการเลี้ยงดูเด็กที่มีความสามารถพิเศษครูและผู้ปกครองควรมีแนวปฏิบัติดังนี้คือ

o มีความเข้าใจจุดเด่นและจุดด้อยของเด็ก

o ฝึกให้เด็กมีการยอมรับและเข้าใจตนเองและข้อจำกัดของตนเอง

o สร้างความมั่นใจว่าพ่อแม่หรือครูจะสนับสนุนเขา

o ฝึกการแก้ความขัดแย้งในตนเอง

o ฝึกการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

o ฝึกความสามารถด้านการติดต่อสื่อสาร

o ฝึกทักษะทางสังคม การยอมรับของคนอื่น

o ฝึกความสามารถในการมุ่งมั่น อดทน และเอาชนะอุปสรรคแทนที่จะเป็นคนก้าวร้าว

o ฝึกให้อยู่กับตนเองได้อย่างมีความสุข

o ฝึกให้เด็กสามารถลดภาวะกดดัน ภาวะเครียด

o ฝึกการสร้างอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี

กลไกทางจิตวิทยาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคนคุมหางเสือทางปัญญาให้พัดพาไปทางดีหรือทางร้ายได้ ทั้งสิ้น หากเราอยากเห็น คนเก่ง คนดี และมีสุขในอนาคต เราคงต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงสร้างและกลไกทางจิตวิทยาและแนะแนว ให้มากกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายสิบเท่า มิฉะนั้นในอนาคตเราอาจไม่มีแผ่นดินจะขายก็เป็นได้

บทความโดย อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์